Project

ความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากร เพื่ออุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กับสมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย

เป็นระยะเวลานานหลายปีที่ต่อเนื่องกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ภายในประเทศ ของสมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย บนพื้นฐานของอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ที่อยู่บนความขาดแคลนบุคลากรซึ่งมีทักษะฝีมือเฉพาะทางในสาขาช่างแม่พิมพ์ ทั้งระดับวิศวกร ช่างเทคนิคและช่างระดับปฏิบัติการ ตลอดกระบวนการผลิตแม่พิมพ์ในทุกชนิด/ประเภท ที่มีการผลิตโดยผู้ประกอบการ ทั้งเพื่อการใช้ในประเทศและเพื่อการส่งออก แม้ว่าการบูรณาการระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนต่าง ๆ ได้ร่วมมือกันในการพัฒนาองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการผลิตโดยรวมของสถานประกอบการแล้วก็ตาม

ผนึกกำลัง เร่งแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน

ความคาดหวังต่อการผลิตบุคลากรที่มาจากการศึกษาอาชีวศึกษาในระบบ กับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงก็ยังพบว่า ปริมาณการผลิตกำลังคนระดับอาชีวศึกษา เพื่อป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมยังไม่เพียงพอ ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่ยังคงทวีความรุนแรงขึ้น

ดังนั้นเพื่อให้การผลิตและการพัฒนากำลังคนเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับความต้องการทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ พร้อมกับส่งเสริมบุคลากรในภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมให้มีขีดความสามารถสูงขึ้น และเปิดโอกาสให้นักศึกษาระดับอาชีวศึกษาได้เรียนรู้ และมีประสบการณ์ในการทำงานจริง ได้รับการสนับสนุนทุนรอนระหว่างที่ยังศึกษา จบแล้วมีงานทำและสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยซึ่งเสมือนประหนึ่งเป็นตัวแทนของผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ยังยืนหยัดและมุ่งมั่นในแผนความร่วมมือสนับสนุนการจัดการศึกษาด้านอาชีวศึกษา จึงได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาต่อไป

การเตรียมการเปิดการสอนระดับปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการของสถาบันการอาชีวศึกษา ระยะแรก ตั้งแต่ปีการศึกษา 2556 สาขาวิชาเทคโนโลยีแม่พิมพ์ เป็นหนึ่งในสาขาวิชาที่ได้มีการขยายระดับการศึกษา ซึ่งได้รับนักศึกษา 2 ห้องเรียน จำนวน 40 คน ที่วิทยาลัยเทคนิคปทุมธานีและวิทยาลัยการอาชีพร้อยเอ็ด และต่อเนื่องในปีการศึกษา 2557 เพิ่มขึ้นที่วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม วิทยาลัยเทคนิคหนองคาย วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี วิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น วิทยาลัยเทคนิคมหาสารคาม วิทยาลัยเทคนิคแพร่ และวิทยาลัยเทคนิคพิษณุโลก มีทั้งสายงานแม่พิมพ์โลหะและแม่พิมพ์พลาสติก

จากผลการพบปะหารือกันมาอย่างต่อเนื่องของนายกสมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย คุณกมล นาคะสุวรรณ กับ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ต่อมาจึงได้จัดประชุมหารือเพื่อศึกษาและกำหนดแนวทางการพัฒนากำลังคนสาขาแม่พิมพ์ขึ้น ในวันศุกร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2557 ณ ห้องประชุม 5 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีตัวแทนภาคอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ จากสมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ สถาบันไทย-เยอรมัน ผู้ทรงคุณวุฒิจากสถานประกอบการด้านแม่พิมพ์ ร่วมกับคณะผู้บริหารและคณาจารย์จากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาของสถานศึกษาที่เปิดทำการสอนในสาขาแม่พิมพ์ ทั้งระดับ ปวช. ปวส.และระดับปริญญาตรี อีกประมาณ 10 แห่ง

โดยนับได้ว่าเป็นโอกาสที่ดียิ่ง เพราะการเปิดสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรือ ปวส. ยังประสบปัญหาด้านผู้เข้าเรียนอยู่มาก ดังนั้น การที่จะขยายการเปิดสอนในสาขาแม่พิมพ์ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือ ปวช. จะเป็นการแก้ปัญหาตัวป้อนได้อีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากความคาดหวังในเรื่องความต่อเนื่องของการเรียนการสอนในสาขาแม่พิมพ์ที่จะสามารถจัดหลักสูตรของระดับ ปวช. ปวส.และระดับปริญญาตรี ที่จะเกิดขึ้น

ความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพการดำเนินงานยิ่งเพิ่มมากขึ้นเมื่อทางสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้รับนโยบายในการพัฒนาอาชีวศึกษา ในส่วนของการให้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน ( กรอ.อศ. ) เพื่อพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษา จากกระทรวงศึกษาธิการ ขณะนี้การดำเนินการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ในกลุ่มอาชีพแม่พิมพ์ ที่มีเป้าหมายในการสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน ( กรอ.อศ. ) โดยมอบหมายและแต่งให้นายกสมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยเป็นประธานคณะอนุกรรมการ และประกอบด้วยคณะอนุกรรมการซึ่งเป็นตัวแทนจากหน่วยงานทั้งใน สอศ. และภาคเอกชน ในการที่จะร่วมกันกำหนดแนวทางและมีส่วนร่วมในการดำเนินการเพื่อการพัฒนาหลักสูตร พัฒนาครูผู้สอน สนับสนุนการจัดการเรียนการสอน ตลอดจนการให้คำปรึกษาแนะนำในการกำหนดชนิด/ประเภทของครุภัณฑ์ เครื่องจักรกล อุปกรณ์ที่มีความจำเป็นและเหมาะสมต่อการฝึกภาคปฏิบัติของแต่ละระดับ ในสาขาช่างแม่พิมพ์ไปพร้อมกัน

TDIA ผลักดัน T1-T7 ขับเคลื่อนกลไกสร้างบุคลากรคุณภาพ

ทางสมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยได้นำเสนอรายละเอียดของมาตรฐานวิชาชีพ ระดับ T1-T7 กับการพัฒนาบุคลากรสาขาช่างแม่พิมพ์ ซึ่งได้มีการกำหนดสมรรถนะตามความต้องการของสถานประกอบการพร้อมด้วยกำหนดคุณลักษณะของผู้ที่จะจบการศึกษา ซึ่งได้จัดทำไว้แล้ว เพื่อเป็นแนวทางในการจัดหลักสูตรการเรียนการสอน ทำให้เกิดประโยชน์ได้ทั้งตัวหลักสูตรที่มีรายละเอียดครอบคลุมเนื้อหาวิชาทฤษฎีและการฝึกภาคปฏิบัติ แนวทางการจัดเตรียมครุภัณฑ์ อุปกรณ์และความพร้อมเพื่อจัดการสอน รวมทั้งแนวทางเพื่อการพัฒนายกระดับครูประจำการและครูฝึกในสถานประกอบการได้เป็นอย่างดี ซึ่งยังเป็นปัญหาที่สำคัญของทางสถานศึกษาที่ประสบอยู่ อีกทั้งการประสบปัญหาในการฝึกงานของนักศึกษาที่สถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกันงานด้านแม่พิมพ์ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำให้นักศึกษาไม่สะดวกในการฝึกงานเพื่อหาประสบการณ์จริง และยังมีจำนวนสถานประกอบการที่มีความพร้อมและให้การสนับสนุนในเรื่องดังกล่าวไม่เพียง

โดยรายละเอียดของมาตรฐานวิชีพสาขาแม่พิมพ์ได้กำหนดรายการทักษะและความสามารถในการปฏิบัติงาน ตามแต่ละระดับดังนี้

T1 ระดับผู้ช่วยช่างแม่พิมพ์ มีทักษะในการปฏิบัติงานขั้นพื้นฐาน ในขั้นตอนการสร้างแม่พิมพ์ เข้าใจในแบบสั่งงานย่อย ใบสั่งงาน ศัพท์เทคนิคภาษาอังกฤษและการคำนวณเบื้องต้น สามารถช่วยเตรียมงาน เตรียมวัสดุอุปกรณ์ รวมทั้งทำการผลิตชิ้นส่วนง่าย ๆ ไม่ซับซ้อนและไม่เน้นความละเอียดเที่ยงตรงมากนักด้วยเครื่องจักรกล และเครื่องมือวัดพื้นฐาน โดยมีความเข้าใจและปฏิบัติตามกฎความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน

T2 ระดับผู้ช่วยช่างแม่พิมพ์ มีทักษะในการปฏิบัติงานในขั้นตอนการสร้างแม่พิมพ์ได้ สามารถอ่านแบบและเขียนแบบภาพประกอบและแยกชิ้น อ่านแบบแม่พิมพ์ได้ อธิบายสัญลักษณ์จากแบบงาน เข้าใจศัพท์เทคนิคภาษาอังกฤษและสามารถคำนวณค่าต่าง ๆ เพื่อการใช้งาน จำแนกเกี่ยวกับวัสดุแม่พิมพ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์และเลือกใช้เครื่องมือตัดต่าง ๆ ในการตัดเฉือนได้ และสามารถใช้เครื่องจักรกลพื้นฐานที่ยากซับซ้อนขึ้น เพื่อการผลิตชิ้นส่วนที่ต้องการความเที่ยงตรงและการปรับประกอบชิ้นส่วนแม่พิมพ์ได้มากขึ้น

T3 ระดับช่างแม่พิมพ์ มีทักษะในการปฏิบัติงานในขั้นตอนการสร้างแม่พิมพ์ได้ดี สามารถอ่านแบบและเขียนแบบแม่พิมพ์ได้ในแบบ 2D CAD มีความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ เช่น GD&T วัสดุแม่พิมพ์ ชิ้นส่วนมาตรฐาน กระบวนการชุบแข็งและเคลือบผิว การใช้เครื่องจักรกล CNC การวางแผนขั้นตอนการทำชิ้นส่วนแม่พิมพ์ การปรับประกอบแม่พิมพ์ การเชื่อมซ่อมและปรับแต่งชิ้นส่วน สามารถบำรุงรักษาแบบ Preventive ได้ทั้งเครื่องจักรกลและแม่พิมพ์

T4 ระดับช่างแม่พิมพ์ด้านออกแบบ มีทักษะในการปฏิบัติงานในขั้นตอนการออกแบบแม่พิมพ์ได้ดี ถึงขั้น 3D CAD มีความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ เช่น ข้อกำหนดและตัวแปรต่าง ๆ เพื่อการออกแบบแม่พิมพ์ GD&T วัสดุแม่พิมพ์ ชิ้นส่วนมาตรฐานและอุปกรณ์พิเศษ รวมถึงรู้ขั้นตอนต่าง ๆ ในกระบวนการสร้างแม่พิมพ์ อันจะเป็นองค์ประกอบในการวางแผนและกำหนดแนวทางการออกแบบให้แม่พิมพ์ที่ออกแบบมามีความถูกต้องสมบูรณ์ และยังสามารถคำนวณและเลือกใช้ค่ามาตรฐานต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

T4 ระดับช่างแม่พิมพ์ด้านสร้างแม่พิมพ์ มีทักษะในการปฏิบัติงานในขั้นตอนการสร้างแม่พิมพ์ได้ดี มีความเข้าใจในวิธีการต่าง ๆ เช่นการจัดทำโปรแกรมคำสั่งเครื่องจักรกล CNC การใช้เครื่องจักรกล CNC ชนิดต่าง ๆ ทำการผลิตชิ้นส่วนแม่พิมพ์ เทคนิคการปรับประกอบแม่พิมพ์ การทดลองแม่พิมพ์และการวิเคราะห์ปัญหาตลอดจนกำหนดแนวทางแก้ไขปรับปรุง การตรวจสอบและการควบคุมคุณภาพ ได้เป็นอย่างดี กรณีที่เป็นแม่พิมพ์ปั๊มโลหะมีความเข้าใจเกี่ยวกับกระสวนหล่อและกระบวนการหล่อโลหะด้วย

T5 ระดับผู้ชำนาญการด้านการออกแบบแม่พิมพ์ มีทักษะความชำนาญครอบคลุมตลอดกระบวนการ การออกแบบแม่พิมพ์และการวิเคราะห์การออกแบบที่ดีมาก มีศักยภาพในการวิเคราะห์ปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตแม่พิมพ์ และผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น การประมาณต้นทุนและวางแผนการทำงาน ถึงขั้นรวบรวมสร้างเป็นองค์ความรู้ใช้ในการสอนและถ่ายทอดแก่บุคลากรหรือผู้ใต้บังคับ บัญชาได้เป็นอย่างดี นอกเหนือจากแม่พิมพ์แล้วยังมีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับอุปกรณ์ตรวจสอบคุณภาพชิ้นงานชนิด Checking Fixture ด้วยเช่นกัน

T5 ระดับผู้ชำนาญการด้านการสร้างแม่พิมพ์ มีทักษะความชำนาญนับตั้งแต่การวางแผน การควบคุมและลดต้นทุน ตลอดกระบวนการสร้างแม่พิมพ์ การวิเคราะห์ปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทั้งหมด และการวางแผนด้านคุณภาพของแม่พิมพ์ทั้งการควบคุมและการประกันคุณภาพที่ให้เป็นไปตามข้อกำหนด ตรงความต้องการของลูกค้า ถึงขั้นรวบรวมสร้างเป็นองค์ความรู้ใช้ในการสอนและถ่ายทอดแก่บุคลากรหรือผู้ใต้บังคับบัญชาได้เป็นอย่างดี

T6 ระดับผู้เชี่ยวชาญด้านแม่พิมพ์ มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการ ด้านการจัดองค์กรของโรงงานแม่พิมพ์ การฝึกอบรมเพื่อการพัฒนาทักษะบุคลากร การจัดผังโรงงานและเครื่องจักรกล เครื่องมือและอุปกรณ์โรงงานของโรงงานแม่พิมพ์ สามารถวิเคราะห์เพื่อนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและสอดคล้องตลอดกระบวนการผลิตแม่พิมพ์ เพื่อการพัฒนายกระดับขีดความสามารถขององค์กร และสามารถบริหารจัดการโรงงานแม่พิมพ์ ตามเป้าหมาย QCD ได้เป็นอย่างดี

T7 ระดับผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านแม่พิมพ์ มีความเชี่ยวชาญในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านการตลาดสินค้าแม่พิมพ์และอุปกรณ์ การจัดทำแผนธุรกิจขององค์กร การบริหารจัดการตามกฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อม การสร้างองค์ความรู้และมีการรวบรวมไว้อย่างเป็นระบบ เพื่อการพัฒนาบุคลากรเน้นการสั่งสมและการถ่ายทอดประสบ การณ์ภายในองค์กร และสามารถวางกลยุทธ์ในการบริหารจัดการโรงงานแม่พิมพ์ได้เป็นอย่างยิ่งดี

เมื่อพิจารณาจากรายการทักษะและความสามารถในการปฏิบัติงานแล้ว จะทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของหลักสูตรรายทักษะของระดับช่างแม่พิมพ์กับระดับหลักสูตรทางการศึกษาตามวุฒิต่าง ๆ ดังนี้

หากการดำเนินงานในขั้นตอนต่อไปได้ยึดถือดังรายละเอียดตามแนวทางที่ได้หารือกัน ก็คงจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าผู้ที่จะจบการศึกษาอาชีวศึกษาในสาขาแม่พิมพ์ ของแต่ละระดับจะมีสมรรถนะและคุณลักษณะตรงตามที่สถานประกอบการด้านอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ต้องการได้มากขึ้นอย่างแน่นอน ทั้งนี้ความร่วมมืออย่างจริงจังของทั้งภาคการศึกษา ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ของภาครัฐและเอกชน กับภารกิจในการจัดและสนับสนุนการศึกษาอาชีวศึกษา ในสาขาแม่พิมพ์ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญยิ่ง ที่ไม่สามารถจะแยกกันคิดหรือแยกกันทำได้

ระดับผู้ชำนาญการด้านแม่พิมพ์ ทั้งด้านการออกแบบและการสร้างแม่พิมพ์ จะเกิดจากความชำนาญในการปฏิบัติงานจริงจนมีประสบการณ์และความชำนาญในทักษะปฏิบัติของอาชีพ ที่ยากหรือไม่อาจที่จะเกิดจากการเรียนการสอนเพียงความรู้ เช่นเดียวกันกับระดับผู้เชี่ยวชาญและผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านแม่พิมพ์ ที่ต้องใช้เวลาในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง เพื่อให้เกิดและสั่งสมประสบการณ์ที่ได้รับระหว่างการปฏิบัติงานอยู่ในอาชีพ ในการที่จะก้าวเป็นผู้จัดการและผู้บริหารองค์กรของสถานประกอบการด้านอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่ขณะนี้การจัดทำรายละเอียดของหลักสูตรและคู่มือฝึกอบรม สำหรับระดับ T6 และ T7 ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว รอที่จะนำออกมาใช้ในการจัดการฝึกอบรมเพื่อสร้างและพัฒนาผู้บริหารในสถานประกอบการอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ภายใต้ความร่วมมือและสนับสนุนจากภาครัฐต่อไป

กมล นาคะสุวรรณ
นายกสมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย 2557

Related Posts