Project

โครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพอุตสาหกรรมการผลิตแม่พิมพ์ ให้กับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน)

อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ถือได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุน ที่มีความสำคัญควบคู่ไปด้วยกันกับความก้าวหน้าในการพัฒนาการผลิตชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือทางการแพทย์ เครื่องยนต์ เครื่องจักรกลและอุปกรณ์การเกษตร บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ด้วยกระบวนการแปรรูปวัสดุโลหะ อะลูมิเนียม พลาสติก ยาง แก้วหรือวัสดุอื่นอีกหลากหลายชนิด ต้องอาศัยแม่พิมพ์ในการทำการขึ้นรูปเกือบทั้งสิ้น เพื่อจะประกอบเป็นผลิตภัณฑ์ตัวอย่างเช่นยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือแพทย์ เครื่องมือสื่อสาร เครื่องจักรกลและอุปกรณ์การเกษตร เครื่องใช้ในครัวเรือน อาหารแปรรูปเป็นต้น

นอกจากเหตุผลการที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปลายปี 2558 นี้แล้ว ภาครัฐได้กำหนดนโยบายต่อเนื่องจากที่เคยสนับสนุนให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์นับตั้งแต่ พ.ศ.2548 เป็นต้นมา อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ก็ยังคงได้รับการให้ความสำคัญในการต่อยอดการพัฒนาต่อไป ซึงเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยปี พ.ศ. 2555-2574 ในส่วนของแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยมุ่งเน้นใน 3 ด้าน คือ 1) การสร้างมูลค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์แม่พิมพ์ด้วยฐานเทคโนโลยี 2) การสร้างโครงสร้างอุตสาหกรรมให้เข้มแข็งและยั่งยืนด้วยฐานสมรรถนะกำลังคน 3) การสร้างศักยภาพการแข่งขันด้วยการส่งเสริมการรวมกลุ่มผู้ประกอบการ และสนับสนุนด้านนโยบายส่งเสริมกลุ่มผู้ประกอบการ

ความคาดหวังต่อความสำเร็จที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวแล้ว หากเป็นไปอย่างมีประสิทธิผลก็จะทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ของประเทศก้าวทันต่อเทคโนโลยีที่จะพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไป เกิดการพัฒนาในองค์รวมที่ก้าวหน้าไปด้วยกันระหว่างผู้ประกอบการ และจะก่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยอย่างยั่งยืนในอนาคตได้อย่างแน่นอน

การพัฒนาสมรรถนะกำลังคนที่มีมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพรองรับ ถูกจัดให้มีความสำคัญในแผนแม่บทไว้อย่างมีนัยสำคัญ โดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ( องค์การมหาชน ) ที่ทางรัฐได้ก่อตั้งขึ้น ให้มีภารกิจสำคัญในการกำหนดมาตรฐานอาชีพและระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ได้ดำเนินโครงการอย่างเป็นรูปธรรมครอบคลุมสาขาอาชีพต่าง ๆ มากมาย โครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาอุตสาหกรรมการผลิตแม่พิมพ์เป็นส่วนหนึ่งที่ได้มอบหมายให้สมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยรับเป็นที่ปรึกษาในการดำเนินการจัดทำ ในระยะที่ 1 มีการดำเนินการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพแล้วเสร็จ ตามงบประมาณของปี 2557 ประกอบด้วย 2 สายงาน คือสายงานแม่พิมพ์โลหะ มี 5 อาชีพ และสายงานแม่พิมพ์พลาสติกอีก 5 อาชีพ ดังนี้

1. สายงานแม่พิมพ์โลหะ ( Metal Die )

1.1 อาชีพช่างออกแบบแม่พิมพ์ปั๊มโลหะ ​
1.2 อาชีพช่างผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์แม่พิมพ์ปั๊มโลหะ ​
1.3 อาชีพช่างปรับประกอบแม่พิมพ์ปั๊มโลหะ ​
1.4 อาชีพช่างตกแต่งผิวแม่พิมพ์ ​
1.5 อาชีพช่างซ่อมบำรุงรักษาแม่พิมพ์ปั๊มโลหะ

2. สายงานแม่พิมพ์พลาสติก​( Plastic Mold )​

2.1 อาชีพช่างออกแบบแม่พิมพ์ฉีดพลาสติก ​
2.2 อาชีพช่างผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์แม่พิมพ์ฉีดพลาสติก ​
2.3 อาชีพช่างปรับประกอบแม่พิมพ์ฉีดพลาสติก ​
2.4 อาชีพช่างขัดเงาแม่พิมพ์ ​
2.5 อาชีพช่างซ่อมบำรุงรักษาแม่พิมพ์ฉีดพลาสติก ​

อย่างไรก็ตามสาขาอาชีพทั้งสองสายงานที่ได้จัดทำแล้วก็ยังไม่ครอบคลุมชนิดและประเภทของแม่พิมพ์ทั้งหมดที่มีใช้ในการผลิตชิ้นส่วนจากวัสดุด้วยกรรมวิธีต่าง ๆ ทั้งในสายงานเดิมและสายงานอื่น สมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยจึงได้ยื่นข้อเสนอและได้รับความเห็นชอบจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ( องค์การมหาชน ) ให้รับเป็นที่ปรึกษาดำเนินการจัดทำเป็นระยะที่ 2 ที่ต่อเนื่องจากระยะที่ 1 ซึ่งเสร็จสมบูรณ์ดังที่ได้กล่าวแล้ว โดยใช้งบประมาณปี 2558 ในอีก 3 สายงาน รวม 10 อาชีพ ประกอบด้วย

3. สายงานแม่พิมพ์โลหะ ( Metal Die )

3.1 อาชีพช่างออกแบบแม่พิมพ์หล่อฉีดอะลูมิเนียม
3.2 อาชีพช่างปรับประกอบแม่พิมพ์หล่อฉีดอะลูมิเนียม
3.3 อาชีพช่างซ่อมบำรุงรักษาแม่พิมพ์หล่อฉีดอะลูมิเนียม

4. สายงานแม่พิมพ์พลาสติก ( Plastic Mold )

4.1 อาชีพช่างออกแบบแม่พิมพ์เป่าพลาสติก (Blow Mold)
4.2 อาชีพช่างออกแบบแม่พิมพ์อัดขึ้นรูปพลาสติก (Compression Mold)
4.3 อาชีพช่างออกแบบแม่พิมพ์เทอร์โมฟอร์มมิ่ง (Thermoforming)

5. สายงานแม่พิมพ์ยาง ( Rubber Mold )

5.1 อาชีพช่างออกแบบแม่พิมพ์ฉีดยาง
5.2 อาชีพช่างออกแบบแม่พิมพ์อัดยาง
5.3 อาชีพช่างปรับประกอบแม่พิมพ์ยาง
5.4 อาชีพช่างซ่อมบำรุงรักษาแม่พิมพ์ยาง

การดำเนินการจัดทำรายละเอียดให้ครบถ้วนครอบคลุมตามข้อกำหนดและโครงสร้างซึ่งทาง สคช. ได้กำหนดไว้เช่นเดียวกับของระยะที่ 1 ผลลัพธ์ที่ได้จากการดำเนินทั้งสองระยะของโครงการ จึงเป็นที่คาดหวังได้ว่ามาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาอุตสาหกรรมการผลิตแม่พิมพ์ทั้งที่แล้วเสร็จและกำลังจะดำเนินการต่อเนื่อง เมื่อมีการประกาศใช้และเป็นกฎหมายแล้วจะเป็นแนวทางในการพัฒนาบุคลากรในสาขาช่างแม่พิมพ์ได้เป็นอย่างดียิ่ง ผู้ที่จะผ่านการทดสอบประเมินและได้รับการรับรองสมรรถนะตามทักษะและระดับชั้นต่าง ๆ ของแต่ละสาขาอาชีพจะมีมาตรฐานโดยเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของระบบคุณวุฒิวิชาชีพ การเคลื่อนย้ายแรงงานที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะมาจากแรงงานต่างด้าวในกลุ่ม AEC หรือกรณีที่แรงงานไทยออกไปทำงานในต่างแดน ก็คงจะยึดถือตามแนวทางเดียวกัน ประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับจึงเกิดขึ้นอย่างแน่นอนต่อการกำหนดอัตรากำลัง การกำหนดค่าจ้างต่าง ๆ เป็นต้น โดยจะสามารถดำเนินไปบนมาตรฐานที่ใกล้เคียงกันได้มากที่สุด อันจะเกิดแนวทางการแก้ปัญหาความขาดแคลนในเชิงคุณภาพได้อย่างมีระบบต่อไป แม้ว่าองค์ประกอบในการดำเนินธุรกิจด้านอุตสาหกรรมแม่พิมพ์จะมีองค์ประกอบอื่นที่สำคัญอีกก็ตาม แต่เรื่องขีดความสามารถด้านสมรรถนะตามมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพนับได้ว่าเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญยิ่ง สมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย องค์กรที่เป็นสื่อกลางในประเทศของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแม่พิมพ์และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ ยังคงต้องเป็นองค์กรที่มีส่วนร่วมในภารกิจการพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถเชิงทักษะเฉพาะทาง ในสาขาการผลิตแม่พิมพ์ ทั้งให้การฝึกอบรม การทดสอบประเมิน สู่การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพทั้งปัจจุบันและอนาคตที่กำลังจะมาถึงนี้ เพื่อการสนับสนุนการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถสู่การแข่งขันที่ยั่งยืนต่อไปของอุตสาหกรรมการผลิตแม่พิมพ์ไทย ไม่ว่าจะเป็นแม่พิมพ์ที่ทำการผลิตเพื่อใช้ในประเทศหรือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกผลิตภัณฑ์แม่พิมพ์ ที่จะเพิ่มรายได้ให้กับประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ที่รัฐได้ตั้งไว้ต่อ ๆ ไป

 

Related Posts