Article

อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ในเวทีการประชุมสมาพันธ์สมาคมแม่พิมพ์แห่งเอเชีย

เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาได้มีโอกาสได้เข้าร่วมการประชุมสมาพันธ์สมาคมแม่พิมพ์แห่งเอเชีย (FADMA) ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน จึงขอหยิบยกเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟัง FADMA หรือชื่อเต็มว่า Federation of Asian Die and Mold Associations เกิดจากการรวบรวมสมาชิกในนามสมาคมหรือองค์กรที่เป็นตัวแทนของกลุ่มอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ของแต่ละประเทศในภูมิภาคเอเชีย เริ่มก่อตั้งโดยไต้หวัน ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลี จีนและสิงคโปร์ มีที่ทำการอยู่ที่ 111 North Bridge Road # 17-06 Peninsula Plaza Singapore 179098. ต่อมาก็มีสมาชิกเพิ่มขึ้น ประกอบด้วยอินเดีย ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ปัจจุบันนี้มีสมาชิกอยู่ 10 ประเทศ หลังจากฮ่องกงได้ขอลาออกไป ทั้งนี้ การสมัครเข้าเป็นสมาชิกของผู้ก่อตั้งเป็นไปโดยอัตโนมัติ นอกจากนั้น ประเทศที่ยื่นสมัครต้องได้รับความเห็นชอบ 2 ใน 3 ของคณะกรรมการ ที่อยู่ในวาระคราวละ 3 ปีและเลือกตั้งใหม่

FADMA… เวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านอุตสาหกรรมแม่พิมพ์

FADMA มีความมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงมาตรฐานของเทคโนโลยีการจัดการและทักษะการบริหารจัดการของสมาชิก ร่างและกำหนดระเบียบผ่านความเข้าใจร่วมกัน โดยมุ่งหวังการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และจะสร้างความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรระหว่างสมาชิกขององค์กรในการแสวงหาความร่วมมือการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจในภูมิภาค

นับตั้งแต่ปี 1992 เป็นต้นมา ได้เปลี่ยนแปลงประธานและคณะกรรมการ ไปตามวาระ ได้ดำเนินกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่อง นับเป็นเวลามากกว่า 20 ปีแล้ว ในระเบียบของสมาพันธ์ฯได้กำหนดให้มีการจัดประชุมขึ้นอย่างน้อยหนึ่งครั้งในรอบสามปี แต่มาระยะหลังได้กำหนดให้จัดประชุมขึ้นทุก ๆ ปี เช่นปี 2013 จัดที่ BITEC กรุงเทพมหานคร ล่าสุดเมื่อ 2-5 มิถุนายน 2014 ที่ผ่านมา ได้จัดขึ้นที่นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เรียกว่า Asian Die & Mold Development Forum 2014 เป็นส่วนหนึ่งของงาน Die & Mold China 2014(DMC 2014) ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้านานาชาติของเทคโนโลยีด้านแม่พิมพ์และอุปกรณ์ ในชื่อ The 15th International Exhibition on Die & Mold Technology and Equipment ครั้งนี้มีประเทศที่เข้าร่วมประชุมรวม 9 ประเทศด้วยกัน ขาดเฉพาะประเทศอินโดนีเซีย ที่ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ จึงขอแนะนำชื่อย่อและชื่อของสมาชิก FADMA ทั้ง 10 ประเทศดังต่อไปนี้

CDMIA China Die & Mould Industry Association

JDMIA Japan Die & Mold Industry Association

KODMIC Korea Die & Mould Industry Cooperative

MMADA Malaysian Mould and Die Association

PDMA Philippine Die & Mold Inc.

SPETA Singapore Precision Engineering and Tooling Association

TAGMA Tool and Gauge Manufacturers Association

TMDIA Taiwan Mold & Die Industry Association

TDIA Thai Tool & Die Industry Association

IMDIA Indonesia Mold & Dies Industry Association

ตัวแทนของทุกประเทศได้นำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวกับสภาวะอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา หัวข้อหลัก ๆ ประกอบด้วย สภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ สถิติการนำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์แม่พิมพ์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง การเติบโตของอุตสาหกรรม สภาวะการแข่งขัน รวมถึงการจัดงานแสดงสินค้าใหญ่ๆ ในประเทศและระดับนานาชาติ

สถานการณ์อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ในแต่ละประเทศ

ในขณะที่หลายประเทศมีสถิติที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ยังไม่มีความชัดเจนในการพัฒนาเพิ่มผลผลิตผลิตภัณฑ์ด้านแม่พิมพ์ แต่ประเทศจีนมีสถิติที่เติบโตอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา กล่าวคือในปี 2013 มียอดการผลิตและขายถึง 24.5 พันล้าน USD. โดยเป็นแม่พิมพ์ยางและพลาสติก ( Rubber & Plastic Moulds ) สูงถึง 70.32 % รองลงมาคือ แม่พิมพ์ปั๊มโลหะ ( Stamping Die ) เพียง 11.95 % จึงถือได้ว่าด้านแม่พิมพ์ยางและพลาสติก ในประเทศจีนมีการพัฒนาเพิ่มการผลิตได้เป็นอย่างมาก และมากที่สุดในกลุ่มประเทศสมาชิก FADMA ด้วยกัน ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นยอดการผลิตไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่ก็ยังรักษากลุ่มลูกค้าในการส่งผลิตภัณฑ์แม่พิมพ์ออกไป ตามลำดับดังนี้ อันดับหนึ่ง สหรัฐอเมริกา รองลงมาเป็น จีน ไทยและอินโดนีเซีย เม็กซิโก อินเดีย มูลค่าการส่งออกรวม 321,500 ล้านเยน

ประเทศไทยเรามีสถิติการนำเข้าแม่พิมพ์สูงสุดในปี 2012 มูลค่า 39,091 ล้านบาท และลดลงในปี 2013 เหลือ 34,052 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปี 2011 มูลค่า 31,649 ล้านบาท ส่วนสถิติการส่งออก สูงสุดในปี 2011 เท่ากับ 13,109 ล้านบาท และลดลงในปี 2012 ส่วนปีที่ผ่านมาคือปี 2013 มียอดส่งออก 10,023 ล้านบาท

ด้านเศรษฐกิจไทยในปี 2013 และแนวโน้มของปี 2014 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP มีการชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยปัจจัยที่ทำให้อัตราการขยายตัวชะลอลง คืออุปสงค์ในประเทศที่หดตัวลง เนื่องจากการใช้จ่ายสินค้าคงทนบางประเภท เช่นยานยนต์หดตัวสูง ในขณะที่ GDP สาขาอุตสาหกรรมโดยรวมยังคงปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับสาขาอื่น ๆ โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และชิ้นส่วน เครื่องคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน ซึ่งยังเป็นที่คาดหวังว่าตลาดส่งออกของสินค้าดังกล่าวจะยังคงทำให้เกิดรายได้ทดแทนการชะลอตัวของตลาดในประเทศ แม้ว่าจะยังไม่เป็นที่ชัดเจนแน่นอนได้มากนัก เนื่องจากความต้องการในตลาดหลักก็มีการชะลอตัวลงด้วยเช่นกัน

การลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์

สถานการณ์ด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2013 ก็มีโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน รวม 154 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ถึง 22 โครงการ จึงยังคงก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทยเพิ่มขึ้นทุกโครงการ ประมาณ 13,610 คน ในอีก 3-4 ปีข้างหน้า โดยโครงการต่าง ๆ เป็นการส่งเสริมการผลิต เช่น ยางยานพาหนะ ชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับยานพาหนะ เกียร์อัตโนมัติ (Automatic Transmission) เครื่องยนต์ดีเซล เครื่องยนต์แก๊สโซลีน ชิ้นส่วนโลหะปั๊มขึ้นรูป (Stamping Parts) ชิ้นส่วนเหล็กทุบขึ้นรูป (Forging) เป็นต้น

จากข้อมูลสถิติยอดการผลิต ในอุตสาหกรรมรถยนต์ยังมียอดการผลิตที่เพิ่มขึ้นทั้งรถยนต์นั่ง และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่น ๆ ในขณะที่ยอดการผลิตรถจักรยานยนต์เริ่มชะลอตัวลง

อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ (Mould and Die Industry) ในประเทศยังได้รับนโยบายการส่งเสริมสนับสนุนจากภาครัฐในด้านต่าง ๆ เพื่อการประกอบการ จึงยังคงผลิตและส่งออกสินค้าแม่พิมพ์และอุปกรณ์ได้เพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2012 แม้จะไม่เท่ากับปี 2011 ก็ตาม นโยบายในการพัฒนาทักษะบุคลากรตลอดกระบวนการผลิตแม่พิมพ์ และครอบคลุมแม่พิมพ์ชนิดต่าง ๆ นอกเหนือจากด้านแม่พิมพ์โลหะ (Metal Die) และแม่พิมพ์พลาสติก (Plastic Mould) ยังครอบคลุมถึงแม่พิมพ์ Die Casting Mould และ Rubber Mould ด้วย นอกจากนี้ ยังมีนโยบายการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ ที่มุ่งให้เกิดระบบมาตรฐานในการพัฒนาทักษะบุคลากรโดยตรง เฉพาะทางด้านการผลิตแม่พิมพ์ และนโยบายการยกระดับขีดความสามารถด้านแม่พิมพ์ของผู้ประกอบการ ก่อนการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2015 ด้วย

จึงยังมีความเชื่อมั่นต่ออุตสาหกรรมแม่พิมพ์ในประเทศที่จะเพิ่มยอดการผลิตได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ เพื่อการตอบสนองอุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ ในประเทศที่ต้องใช้แม่พิมพ์ และเพื่อขยายการส่งออกสินค้าแม่พิมพ์ได้ต่อไป

หลังจากการนำเสนอข้อมูลดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่าเป็นที่สนใจของผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้อย่างมากมายทีเดียว

จึงนับได้ว่าการประชุม FADMA ที่จัดขึ้นในแต่ละปีย่อมเกิดประโยชน์ในมุมมองต่าง ๆ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ทั้งการนำเข้าและการส่งออก โดยเฉพาะประเทศไทยเรากับความสนใจด้านการลงทุนอุตสาหกรรม และความเชื่อมั่นในการค้าขาย กับต่างชาติต่อไป

โดย กมล นาคะสุวรรณ
นายกสมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย

Related Posts