Article

TDIA เร่งดำเนินการทดสอบฝีมือช่าง เพื่อประเมินและรับรองตามมาตรฐาน ฝีมือแรงงานแห่งชาติ กลุ่มช่างแม่พิมพ์

มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ 4 สาขาอาชีพ ซึ่งทางสมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้จัดทำขึ้น ผ่านกระบวนการและขั้นตอนการพิจารณาความเหมาะสมและได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ประกอบด้วยสาขาอาชีพช่างเทคนิคเครื่องกัดอัตโนมัติ ( CNC Milling ) ช่างเทคนิคเครื่องอีดีเอ็ม ( EDM ) ช่างเทคนิคเครื่องไวร์คัทอีดีเอ็ม ( Wire EDM ) และช่างขัดเงาแม่พิมพ์ ( Polishing ) ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการผลิตชิ้นส่วนแม่พิมพ์และการขัดเงาแม่พิมพ์ เป็นเทคนิคการปฏิบัติงานของการผลิตแม่พิมพ์ได้ทั้งแม่พิมพ์โลหะ ( Metal Die ) แม่พิมพ์พลาสติก ( Plastic Mould ) แม่พิมพ์ยาง ( Rubber Mould ) และแม่พิมพ์สำหรับวัสดุอื่น ๆ มาตรฐานฝีมือแรงงานที่กำหนดไว้เพื่อเน้นสร้างช่างที่มีขีดความสามารถด้านความรู้ ทักษะฝีมือและมีทัศนคติที่ดี เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการผลิตชิ้นส่วนโดยใช้เครื่องจักรกลอัตโนมัติชนิดต่าง ๆ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การวางแผนและการบริหารการผลิต การเตรียมงาน การสร้างโปรแกรมเอ็นซีเพื่อการกัดชิ้นงานจากระบบควบคุมของเครื่องกัดอัตโนมัติและระบบคอมพิวเตอร์ช่วยในการผลิต การกำหนดจุดและวิธีการตรวจสอบชิ้นงานที่ผลิต การตรวจสอบสภาพความผิดปกติระหว่างทำงาน สามารถวินิจฉัยและแก้ปัญหาในกระบวนการผลิต รวมถึงปฏิบัติตามกฎความปลอดภัยในการทำงาน และการดูแลรักษาเครื่องจักรกลและเครื่องมือวัด โดยแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ส่วนอาชีพช่างขัดเงาแม่พิมพ์ กำหนดให้เป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ในการปฏิบัติงานขัดเงาแม่พิมพ์ ครอบคลุมตั้งแต่การวางแผนและการบริหารการขัดผิวแม่พิมพ์ การเตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์ในการขัดผิว สามารถขัดผิวแม่พิมพ์ตั้งแต่ระดับผิวเรียบจนถึงระดับผิวกระจก มีทักษะด้านความปลอดภัยและการบำรุงรักษาเครื่องมืออุปกรณ์ เช่นเดียวกันกับสาขาดังกล่าวแล้ว โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ

การดำเนินงานโครงการพัฒนาและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานของกำลังคนในอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายหนึ่ง ให้ได้จำนวน 200 คน เฉพาะระดับต้นของทุกสาขาอาชีพ ที่ได้รับการทดสอบทั้งภาคความรู้และภาคความสามารถ ทั้งนี้ภายในเดือนเมษายน พ.ศ.2558 นอกจากทางสมาคมได้ร่วมมือกับสถานประกอบการเอกชน 2 แห่ง ประกอบด้วยบริษัท ศรีไทยโมลด์ส จำกัดและบริษัท บางกอกแปซิฟิคสตีล จำกัดแล้ว ยังได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ นนทบุรี วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ และวิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม เพื่อดำเนินการจัดทดสอบในครั้งนี้ ตามขีดความสามารถและความพร้อมเพื่อการทดสอบของแต่ละสาขาอาชีพของสถานประกอบการเอกชนและสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ

โครงการพัฒนาและทดสอบรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานครั้งนี้นับเป็นครั้งแรก และจะขยายผลเพื่อเพิ่มจำนวนผู้เข้าทดสอบและระดับที่สูงขึ้นของแต่ละอาชีพ จึงถือได้ว่าเป็นการเปิดโอกาสให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องในสาขาช่างแม่พิมพ์ทั้งที่อยู่ในระหว่างการศึกษาด้านเทคนิคและช่างที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการผลิตแม่พิมพ์ ได้เข้าทำการทดสอบประเมินสู่การรับรองระดับฝีมือแรงงานมาตรฐาน ที่มีความสำคัญต่อการตอบรับในการบังคับใช้เป็นกฎหมายและเพื่อสนับสนุนและยกระดับศักยภาพของการประกอบการในธุรกิจการผลิตแม่พิมพ์ของประเทศ รวมถึงเป็นการสร้างมาตรฐานของช่างแม่พิมพ์ไทยในโอกาสที่จะเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปีนี้ด้วย

–ในขณะเดียวกันสมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยยังมีการดำเนินการต่อเนื่องในการร่างมาตรฐานฝีมือแรงงานอีก 4 สาขาอาชีพ ประกอบด้วย สาขาอาชีพช่างออกแบบแม่พิมพ์ฉีดพลาสติก สาขาอาชีพช่างออกแบบแม่พิมพ์ปั๊มโลหะ สาขาอาชีพช่างปรับประกอบแม่พิมพ์ฉีดพลาสติกและสาขาอาชีพช่างปรับประกอบแม่พิมพ์ปั๊มโลหะ โดยมีเป้าหมายที่เสนอพิจารณาความเหมาะสมเพื่อประกาศใช้ในการพัฒนาบุคลากรในสาขาที่เพิ่มขึ้นอีก หากมีความสำเร็จจนถึงขั้นการดำเนินการพัฒนาและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ก็จะสามารถสร้างบุคลากรในสาขาแม่พิมพ์ให้กว้างและครอบคลุมกระบวนการผลิตแม่พิมพ์และชนิดประเภทของแม่พิมพ์ที่มากขึ้น สามารถตอบสนองปัญหาการขาดแคลนทั้งปริมาณและคุณภาพ อันจะเป็นการส่งเสริมสนับสนุนศักยภาพการประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตแม่พิมพ์ในประเทศ เกิดความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนและผู้ซื้อหรือว่าจ้างในด้านแม่พิมพ์ในระยะเวลาอันใกล้นี้ได้อย่างแน่นอน

โดย กมล นาคะสุวรรณ
นายกสมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย

 

Related Posts