Article

จับตาโครงการเด่น เพื่ออุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย

โครงการความร่วมมือเพื่อการขยายโอกาสและส่งเสริมมาตรฐานการผลิต ในอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ให้สอดคล้อง ตรงกับความต้องการ และเป็นการเตรียมความพร้อมสู่ความท้าทายที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต จากผู้ผลิตระดับโลกที่มีฐานการผลิตในประเทศไทย

หลังจากรัฐบาลโดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดนโยบายและสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ในประเทศอย่างจริงจัง นับตั้งแต่ พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา ระยะแรก ปี พ.ศ. 2548 – 2552 ในชื่อโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ( Mould and Die Industry Development Project : MDP ) ต่อมาระยะที่ 2 ปี พ.ศ. 2553 – 2557 เป็นโครงการยกระดับขีดความสามารถอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ( Enhancement of Mould and Die Industry Competitiveness Project : MDC ) นอกเหนือจากกิจกรรมภายใต้โครงการที่ได้ดำเนินการตามแผนและยุทธศาสตร์ที่วางไว้แล้วตลอดทั้งสองช่วง โดยการสนับสนุนของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและสถาบันไทย – เยอรมัน สมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยเป็นองค์กรที่มีบทบาทในการพัฒนาด้านต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการและบุคลากรในอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ครอบคลุมองค์ประกอบการบริหารจัดการ การวิเคราะห์องค์กรและการขยายกิจการ การพัฒนาความเชื่อมโยงการรวมกลุ่มในธุรกิจ การปรับปรุงโรงงานแม่พิมพ์ การพัฒนาด้านวิศวกรรมการออกแบบและการวิเคราะห์ เทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนด้วยเครื่องมือกลที่ทันสมัย การผลิตแม่พิมพ์ที่ตอบสนองเป้าหมาย QCD ความรู้ความเข้าใจและการเลือกใช้วัสดุ อุปกรณ์แม่พิมพ์ ตลอดจนการบริหารด้านการตลาดสินค้าแม่พิมพ์และอุปกรณ์ เป็นสำคัญ โดยเน้นการพัฒนาทักษะบุคลากรให้มีขีดความสามารถที่สูงขึ้น ตรงและสอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เป็นปัจจุบันและรวมเพื่อการรองรับกับแนวโน้มของเทคโนโลยีที่กำลังพัฒนาและจะเปลี่ยนแปลงในอนาคตด้วย

โครงการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศนับเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เป็นโอกาสในการพัฒนาได้เป็นอย่างดียิ่ง สมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย ( Thai Tool and Die Industry Association : TDIA ) ได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับสมาคมความร่วมมือทางเทคโนโลยีแม่พิมพ์แห่งประเทศญี่ปุ่น ( The Japan Society for Die and Mould Technology : JSDMT ) ภายใต้ข้อตกลงได้มุ่งเน้นการถ่ายโอนเทคโนโลยีด้านการออกแบบแม่พิมพ์ผ่านกิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ ที่จะร่วมกันจัดขึ้น เพื่อให้เป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลเทคโนโลยีแม่พิมพ์และนักวิจัยระหว่างทั้งสองประเทศ โดยร่วมมือกันจัดกิจกรรมการสัมมนาเทคโนโลยีวิชาการด้านแม่พิมพ์ของไทยและญี่ปุ่น ทุก 2 ปี การถ่ายโอนความรู้เกี่ยวกับการออกแบบและผลิตแม่พิมพ์ เพื่ออุตสาหกรรมไทย ผ่านการฝึกอบรม สัมมนา และให้คำปรึกษา โดยผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่น การผลิตสื่อเผยแพร่เทคโนโลยีแม่พิมพ์ แปลเป็นภาษาไทยและเผยแพร่ภายใต้ลิขสิทธิ์ การจัดให้มีการเยี่ยมชมบริษัทหรือองค์กรชั้นนำในประเทศ เพื่อเป็นแบบอย่างในการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ และการจัดโปรแกรมการแลกเปลี่ยนนักวิจัยระหว่างทั้งสองประเทศ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ของไทย

อีกครั้งหนึ่งในรอบ 10 ปี กับการจัดประชุมสัมมนาทางวิชาการเทคโนโลยีแม่พิมพ์ภูมิภาคเอเชีย ครั้งที่ 5 ซึ่งจัดขึ้นโดย สมาคมความร่วมมือทางเทคโนโลยีแม่พิมพ์แห่งประเทศญี่ปุ่น (JSDMT) สานักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน (BSID) สมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย (TDIA) สถาบันไทย-เยอรมัน (TGI) และสนับสนุนโดยบริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด จัดขึ้นเมื่อวันพุธที่ 19 พฤศจิกายน 2557 เวลา 09.00 – 17.00 น. ห้องแกรนด์ฮอลล์ 201 ไบเทค บางนา ในระหว่างงาน Metalex 2014 นับเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและวิชาการเทคโนโลยีแม่พิมพ์ที่สำคัญอีกหน

ประเทศไทยเมื่อดูข้อมูลด้านแม่พิมพ์ นับตั้งแต่ ปี 2007 – 2014 สถิติการนำเข้าและการส่งออกแม่พิมพ์ ในสามปีแรก ( 2007 – 2009 ) มีการนำเข้าประมาณ 2 หมื่นล้านบาทในแต่ละปี และนำเข้ามากที่สุดในปี 2012 ซึ่งมากถึง 39,092 ล้านบาท และลดต่ำลงในปี 2013 สำหรับปีนี้จากข้อมูลครึ่งปีแรก ( ม.ค. – มิ.ย. ) ก็ทำให้พอจะคาดได้ว่าไม่น่าจะเกินยอดของปีที่ผ่านมา ในส่วนการส่งออกสูงสุด ปี 2011 เท่ากับ 12,109 ล้านบาท ซึ่งทั้งก่อนหน้าและหลังจากนั้นไม่เคยเกินระดับนั้นเลย แม่พิมพ์ที่นำเข้าและส่งออก ในสัดส่วนที่มากที่สุดใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ประมาณ 35% และรองลงมาเป็นชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณ 27% นอกจากนั้นใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ เครื่องใช้ในครัวเรือน เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์การแพทย์ รองเท้า อัญมณี เป็นต้น

หากดูสถิติในการผลิตรถยนต์ของโลก พบว่าในรอบ 10 ปี ประเทศไทยเรามีการผลิตรถยนต์เพิ่มมากขึ้นโดยลำดับ จากปี 2005 ประเทศไทยผลิตรถยนต์รวมอยู่ในลำดับที่ 14 (1,122,712 คัน) และก้าวขึ้นมาเป็นลำดับที่ 9 (2,532,577 คัน) แล้วในปี 2013 ในขณะที่จีนก้าวจากลำดับที่ 4 มาเป็นผู้นำในการผลิตยอดสูงสุด ซึ่งยังเชื่อมั่นว่าจะยังคงรักษาฐานการผลิตได้ต่อไป และข้อมูลที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจอีกประการหนึ่งคือการพัฒนาและผลิตรถยนต์ Electric Vehicle & Plug-in Hybrid EV. ที่มียอดเพิ่มขึ้นทุกปีและคาดว่าปี 2014 จะสูงถึงประมาณ 400,000 คัน ( HIS Automotive , Feb. 2014 ) ในขณะเดียวกันกับการพัฒนาวัสดุทดแทนสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ เช่นการใช้เหล็กความแข็งแรงสูง อลูมิเนียมและพวกคาร์บอนไฟเบอร์ เพื่อลดน้ำหนักตัวรถให้สามารถประหยัดอัตราความสิ้นเปลืองของเชื้อเพลิง เป็นต้น ดังนั้นความสำคัญและความจำเป็นในการพัฒนาเกี่ยวกับการผลิตแม่พิมพ์ทุกชนิด/ประเภทในประเทศไทยเราจึงถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้สอดคล้องและทันต่อแนวโน้มอนาคตที่กำลังจะมาถึง

ข้อมูลซึ่ง Mr. Makoto Kawano ประธานบริษัท Honda Engineering Asian Co.,Ltd. แนวโน้มของธุรกิจยานยนต์ในเอเชีย รวมทั้งข้อมูลการนำเสนอถึงแนวโน้มด้านเทคนิคในการตัดเฉือนแปรขึ้นรูปในประเทศญี่ปุ่น โดย Prof. Dr. Hideki Aoyama : Keio University เป็นการสนับสนุนอย่างชัดเจนถึงการที่ต้องเร่งดำเนินการในการพัฒนาองค์ประกอบในการผลิตแม่พิมพ์ในประเทศเป็นอย่างยิ่ง และเป็นที่น่าภาคภูมิใจที่บริษัทผลิตยานยนต์ชั้นนำในประเทศไทย เช่น Nissan Motor (Thailand) Co.,Ltd. , Honda Engineering Asian Co., Ltd. , Auto Alliance Thailand Co., Ltd. ( JV. of MAZDA and FORD) ได้นำเสนอถึงผลการพัฒนาและเตรียมการเพื่อรองรับกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ไว้มากพอสมควรทีเดียว ทั้งนี้จะเป็นการนำและการถ่ายโอนเทคโนโลยีและเทคนิควิธีการต่าง ๆ ไปยังผู้ผลิตแม่พิมพ์และชิ้นส่วนในประเทศได้เป็นอย่างดี

ความร่วมมือดังกล่าวแล้วจะยังคงดำเนินการต่อไประหว่างอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ของญี่ปุ่นกับอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ของไทยในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ หลังจากการสัมมนาที่จัดขึ้นในครั้งนี้ ได้มีการประชุมเพื่อสรุปและประเมินผลจากการสัมมนา ผลปรากฏว่านอกจากฝ่ายไทยได้แสดงศักยภาพในการร่วมมือและเตรียมการจัดได้เป็นที่พอใจของทางญี่ปุ่นแล้ว ซึ่ง Mr. Hideki TAOKA ประธาน JSDMT และ Dr. Masahiko HIHARA ได้แสดงความพึงพอใจและให้ความมั่นใจที่จะทำให้เกิดความร่วมมือกันต่อไป โดยนอกจากจะคงการจัดสัมมนาลักษณะเดิม สองปีต่อครั้งแล้ว ทางเราได้เสนอให้เพิ่มกิจกรรมอื่น ๆ ตามข้อตกลงที่มีไว้ต่อกัน เป็นการจัดกิจกรรมสลับในปีที่ไม่มีการจัดสัมมนา ซึ่งถือได้ว่าต่อไปนี้การร่วมมือจะเกิดขึ้นต่อเนื่องในทุก ๆ ปี

ความสำเร็จครั้งนี้ ทำให้สามารถคาดหวังและเกิดความเชื่อมั่นที่มากกว่าการจัดสัมมนาเท่านั้น นับได้ว่าเป็นการขยายโอกาสความร่วมมือและส่งเสริมมาตรฐานการผลิตแม่พิมพ์ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ให้สอดคล้องและตรงกับความต้องการของสภาวะและเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนแปลงไป และเป็นการเตรียมความพร้อมสู่ความท้าทายที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต จากผู้ผลิตระดับโลกที่มีฐานการผลิตในเอเชียและประเทศไทยเราจะเป็นผู้ชี้นำ ถ่ายทอดและให้การสนับสนุนในการพัฒนาต่อไป ซึ่งจะควบคู่กันไปกับการดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการสร้างความยั่งยืนของอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย (Mould and Die Industry Sustainable Development Project : MDS , 2016 – 2020 ) ที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดไว้

โดย กมล นาคะสุวรรณ
นายกสมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย

Related Posts